ทำไมต้องผ่าตัดฟันคุด?

 ฟันคุด คือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นพ้นจากเหงือกได้ตามปกติแบบฟันอื่นๆ มักฝังตัวอยู่ใต้เหงือกตรงฟันกรามซี่ที่สามด้านในสุด บริเวณขากรรไกร ซึ่งมีทั้งฟันคุดที่โผล่พ้นเหงือกมาได้บางส่วน หรือไม่โผล่พ้นเหงือกเลย หรือโผล่พ้นเหงือกในลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

ผ่าฟันคุด

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องผ่าตัดฟันคุด?

          ถ้าหากฟันของเราไม่สามารถขึ้นพ้นเหงือกได้ตามปกติ บางครั้งฟันคุดอาจไม่สร้างปัญหาใดๆ เลย แต่ในหลายๆ เคสฟันคุดก็สร้างปัญหาภายในช่องปากของเราหลายอย่าง ดังนี้

  • ก่อความเสียหายให้แก่ฟันซี่อื่นๆ เช่น ฟันที่คุดดันฟันซี่ที่อยู่ใกล้ๆ จะล้มหรือเอียง หรือเบียดจนฟันไม่เรียงกันเป็นระเบียบอย่างที่ควรเป็น
  • ก่อความเสียหายให้แก่ขากรรไกร ฟันคุดอาจทำให้เกิดถุงน้ำรอบๆ จนทำลายเนื้อเยื่อขากรรไกรและเส้นประสาทได้ ซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นทำให้ขากรรไกรหัก
  • ทำให้เกิดปัญหาที่ไซนัส ฟันคุดสามารถทำให้เกิดอาการปวด อาการบวมที่ไซนัสได้
  • ทำให้เหงือกอักเสบ เพราะเนื้อเยื่อบริเวณฟันคุดมักเกิดการอักเสบ ทำให้บวม และปวด ยากแก่การทำความสะอาด
  • ก่อให้เกิดฟันผุ เนื่องจากอาการเหงือกบวมทำให้เกิดช่องระหว่างฟัน ซึ่งเป็นผลให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสม ทำให้ฟันผุได้

          แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ด้วยว่าฟันคุดของเราจะสร้างปัญหามากน้อยแค่ไหน  โดยทันตแพทย์จะประเมินจากรูปร่างช่องปาก ตำแหน่งฟันคุด และลักษณะของฟันที่คุด ซึ่งถ้าหากพบว่าฟันคุดซี่นั้นมีโอกาสสร้างปัญหาในอนาคต ก็ควรผ่าออกเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ ตามมาในภายหลัง

การผ่าตัดฟันคุด มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

การผ่าตัดฟันคุดเป็นการผ่าตัดเล็กซึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล โดยทันตแพทย์จะให้ยาชาหรือยาสลบขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ แต่ส่วนใหญ่จะให้แค่ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก จากนั้นทันตแพทย์จะผ่าเปิดเหงือกเพื่อหาตัวฟันคุด บางเคสอาจดึงฟันทั้งซี่ออกมาได้เลย แต่บางเคสอาจต้องใช้เครื่องกรอตัดฟันนั้นเป็นส่วนๆ ก่อน จึงค่อยนำออกมา ซึ่งตรงนี้ช้าเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวฟัน เมื่อผ่าตัดนำฟันออกมาได้ทั้งหมดแล้ว ทันตแพทย์ก็จะล้างทำความสะอาด แล้วเย็บแผลปิด คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล และสามารถไปเรียนหรือทำงานได้ในวันถัดไป

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ผ่าตัดฟันคุด

  • ให้คนไข้กัดผ่าก๊อซไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไวที่สุด จะช่วยให้แผลสมานกันเร็วขึ้น และไม่ควรนำผ่าก๊อซออกจากแผลจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • สามารถกลืนน้ำลายได้ตามปกติ แต่ห้ามบ้วนเลือดหรือน้ำลายเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลช้า
  • หลังจากครบ 1 ชั่วโมง ถ้ามีเลือดซึมจากแผล สามารถเปลี่ยนผ้าก๊อซสะอาดใหม่แล้วกัดต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมงได้
  • หลังผ่าตัด ให้ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้มเอาไว้ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
  • ในช่วงแรก ควรรับประทานอาหารอ่อนเพื่อลดภาระของฟัน และบรรเทาอาการอักเสบ
  • รับประทานยาให้ครบตามช่วงเวลาที่ทันตแพทย์สั่ง
  • แปรงฟันทำความสะอาดช่องปากได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบแผลผ่าตัด
  • ถ้าหากทันตแพทย์เย็บแผลด้วยไหมละลาย ไม่ต้องตัดไหม แต่ถ้าหากเย็บด้วยไหมปกติ ต้องมาตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน
  • ถ้ามีอาการแทรกซ้อนใดๆ เช่น เลือดไหลไม่หยุด เหงือกบวมกว่าปกติ หรือมีอาการอักเสบอื่นๆ ต้องรีบไปพบทันตแพทย์ทันที
คำแนะนำหลังผ่าฟันคุด

บทความน่ารู้เกี่ยวกับ การผ่าฟันคุด

เมนู