รักษารากฟัน

รักษารากฟัน คืออะไร ทำไมต้องทำ?

          รักษารากฟัน เกิดจากในคนไข้หลายรายมีปัญหาฟันผุ แต่ปล่อยเอาไว้ไม่รักษา จนฟันผุลุกลามทำลายเนื้อฟันมากขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบไปถึงรากฟันจนจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป แต่ถ้าหากฟันซี่นั้นเป็นฟันแท้ที่มีความสำคัญ เช่น ฟันกราม การถอนฟันอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะทำให้ต้องใส่ฟันปลอมไปทั้งชีวิต ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ “การรักษารากฟัน” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

         การรักษาจะมีวิธีและขั้นตอนซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก จึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นการรักษาที่จำเป็น เพื่อให้กลับมาใช้ฟันได้ดังเดิมอีกครั้งโดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม

สาเหตุใดบ้าง ที่ทำให้โพรงประสาทฟันถูกทำลาย?

  •  ฟันผุอย่างรุนแรง
  •  ฟันแตก
  • ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ฟัน
รักษารากฟัน

อาการแบบไหนบ่งบอกว่า “ต้องรักษารากฟัน”?

  •  ฟันผุลึกจนทะลุถึงโพรงประสาทรากฟัน
  •  ฟันหักหรือแตกจนถึงโพรงประสาทรากฟัน
  •  ฟันแตกหรือหักบางส่วน ที่อาจไม่ถึงโพรงประสาทรากฟัน
  •  เกิดอาการอักเสบหรือมีหนองที่ปลายรากฟัน
  •  ฟันอักเสบอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือน

          อาการเหล่านี้ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากปล่อยให้โพรงประสาทฟันถูกทำลายหรือตาย อาจเกิดการติดเชื้อ จนลุกลามไปยังขากรรไกร และไปถึงกระดูกรอบๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ปวด อักเสบ และการรักษายุ่งยากวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นควรไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

ขั้นตอนการรักษารากฟัน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

  1.  เมื่อตรวจประเมินแล้วพบว่าคนไข้จำเป็นต้องรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะเริ่มกำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออกก่อน
  2.  หลังจากกำจัดเนื้อฟันแล้ว ทันตแพทย์จะทำความสะอาดรากฟัน และใส่ยาลงไปในคลองรากฟันเพื่อกำจัดเชื้อ
  3.  จากนั้นทันตแพทย์จะปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำอีก
  4.  ถ้าหากมีหนองบริเวณปลายรากฟัน อาจต้องทำความสะอาดหลายครั้งและเปลี่ยนยาจนกว่าอาการอักเสบของรากฟันจะหายเป็นปกติ
  5.  เมื่อรากฟันไม่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้ออีกแล้ว ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวร จากนั้นจึงบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งการบูรณะตัวฟันทำได้หลายวิธี เช่น การอุดฟัน การใส่เดือยฟัน การครอบฟัน โดยจะเลือกใช้วิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อฟันที่เหลืออยู่

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ระหว่างรักษารากฟัน คือ อาการปวดฟันร่วมกับอาการบวมของเหงือก ซึ่งทันตแพทย์อาจให้ยาแก้ปวดร่วมกับยาแก้อักเสบ แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อรักษารากฟันสำเร็จแล้ว

คำแนะนำสำหรับผู้ที่รักษารากฟัน

  1. ในช่วงแรกของการรักษารากฟันอาจมีอาการเจ็บหรือปวดบ้างในช่วง 2 – 3 วันแรก แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเอง
  2. ระมัดระวังเรื่องการใช้ฟันซี่ที่รักษารากฟัน เนื่องจากเนื้อฟันที่แท้จริงเหลือน้อยลง จึงควรระวังเรื่องการเคี้ยวอาหาร ไม่ควรบดเคี้ยวอาหารที่เหนียวหรือแข็งเกินไป
  3. ถ้าหากวัสดุอุดฟันหลุดหรือแตก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที
  4. การรักษารากฟันต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคนไข้ควรมีวินัย และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น

ฟันที่รักษารากฟันแล้ว จะอยู่ได้นานแค่ไหน?

          ถ้าหากรักษารากฟันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันจะสามารถคงอยู่ได้ตลอดชีวิต แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของคนไข้เองด้วย เพราะถึงรักษารากฟันแล้ว แต่ฟันก็ยังอาจผุได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาสุขภาพอนามัยในช่องปากจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง และควรมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจช่องปากและฟัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาช่องปากและฟันได้ทันท่วงที

บทความน่ารู้ การรักษารากฟัน

เมนู